ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา จำนวนมากหันมาผลิตน้ำปู อาหารขึ้นชื่อของชาวล้านนา ที่มักนิยมทำกันในช่วงนี้ เนื่องจากตัวปูนา ที่มีตัวเจริญวัยเต็มที่ และสามารถหาได้จำนวนมาก ในพื้นที่ โดยชาวบ้านส่วนใหญ่จะนำมาทำเป็นน้ำปู หรือน้ำปู๋ ที่ใช้เป็นส่วนผสมอาหาร ซึ่งชาวบ้านจะทำไว้เพื่อรับประทานในครอบครัวและนำออกจำหน่ายสร้างรายได้งามถึงแม้ในช่วงนี้จะมีกระแสการปนเปื้อนของสารพาราควอต แต่กลุ่มผู้ผลิตน้ำปูที่นี่ก็มีความมั่นใจว่าในพื้นที่จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนเนื่องจากแหล่งที่มาของปูจะอยู่ในพื้นที่ ที่ไม่มีเกษตรรกรใช้สารเคมี
ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลห้วยเจริญราษฎร์ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา หลายหมู่บ้านในช่วงนี้ ต่างออกหาตัวปูนา ตามทุ่งนาในพื้นที่นาของหมู่บ้าน เพื่อนำมาแปรรูปเป็นน้ำปู หรือน้ำปู๋ ซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมของชาวบ้านในพื้นที่ภาคเหนือ ที่สามารถนำไปเป็นส่วนผสมของอาหารอื่นๆ ทั้งน้ำพริก แกงหน่อไม้ ตำแตงและตำหลากหลาย ซึ่งเป็นอาหารจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สามารถรับประทานในครอบครัว และสร้างงาน สร้างอาชีพได้ ซึ่งรสชาติของน้ำปูดังกล่าวจะมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะชาวบ้านของชุมชน อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา จนเป็นอาหารพื้นถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของอำเภอและเป็นสินค้าโอท็อปที่ขึ้นชื่อของอำเภอแม่ใจ
โดยนางหอม ใจมิภักดิ์ อายุ 65 ปี ชาวบ้านในพื้นที่บ้านสันสลี หมู่ที่ 7 ตำบลห้วยเจริญราษฎร์ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ประธานกลุ่มน้ำปูสันสลี กล่าวว่า ได้ทำน้ำปู มานานกว่า 40ปีแล้วสำหรับ การทำน้ำปู เมื่อได้ปูนามาแล้วก็จะนำอามาขังและแช่น้ำไว้สักหนึ่งคืนเพื่อให้สิ่งสกปรกดิน โคลนหลุดออกจากตัวปู จากนั้นก็จะนำปูมาล้างให้สะอาด แยกครีมของปูออกจากตัวปู เตรียมใบตระไคร้ ใบขมิ้น นำมาบดพร้อมกับปู เอาน้ำปูออกให้มากที่สุด แล้วนำน้ำปูที่คั้นได้เก็บไว้ประมาณ 1-2 คืน เพื่อดองให้เกิดกลิ่น และนำไปเคี่ยว การเคี่ยวต้องใช้ไฟแรงๆและค่อยๆเอาฟืนออกให้ไฟอ่อนลง เมื่อเคี่ยวจนน้ำปูแห้งแล้วจะใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมง จะเติมเกลือเล็กน้อย น้ำปูแห้งจะจับกันเป็นก้อนสีดำ พักไว้ให้เย็นสามารถนำไปบรรจุภาชนะ และออกขาย โดยจะจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 250 บาท ซึ่งตัวปูเป็นๆจำนวน 100 กิโลกรัม จะสามารถเคี่ยวเป็นน้ำปูได้จำนวน 20 กิโลกรัม ซึ่งแต่ละรายนั้นสามารถผลิตน้ำปูได้เฉลี่ยแล้วกว่า 20 กิโลกรัมต่อวัน สำหรับการจำหน่ายนั้นจะมีคนมาสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง และสามารถขายได้เป็นอย่างดี สร้างรายได้ในช่วงนี้ได้อย่างงาม โดยเฉพาะช่วงนี้ชาวบ้านจำนวนมากในพื้นที่อำเภอแม่ใจ จะทำการผลิตน้ำปูออกจำหน่ายกันเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ในช่วงนี้จะมีกระแสข่าวว่าในน้ำปูมีสารปนเปื้อนพาราควอต แต่ทางกลุ่มไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากทราบที่มาของแหล่งที่ได้มาของปู ซึ่งในพื้นที่จะไม่ใช้สารเคมีแต่อย่างไดซึ่งหากมีการใช้สารเคมีตัวปูก็จะไม่มีมาก และทางกลุ่มก็ได้นำน้ำปูดังกล่าวเข้าประกวดได้รับรางวัลอาหารปลอดภัย มาแล้ว
สำหรับการทำน้ำปูของชาวบ้าน ในพื้นที่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา จะทำในช่วงหลังจากปลูกนาข้าว ช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม – ตุลาคม ของทุกปี ซึ่งในช่วงนี้ปูนาจะออกมากัดกินต้นข้าวและมีตัวโตเจริญวัย ชาวบ้านก็จะออกไปจับปูนามาทำน้ำปู เป็นวงกว้าง ซึ่งน้ำปูจะเป็นส่วนผสมใช้ปรุงรส อาหารพื้นบ้านภาคเหนือ เช่น น้ำพริกน้ำปู แกงหน่อไม้ ยำหน่อไม้ ตำแตง ซ้ามะเขือ ตำเตา ตำส้มโอ ตำกระท้อน ซึ่งเป็นอาหารดั้งเดิมของคนเหนือ โดยมักจะทำน้ำปูในฤดูฝนหรือฤดูทำนาเพื่อไว้ใช้ในการปรุงอาหารได้ตลอดทุกฤดูกาล น้ำปู หรือ น้ำปู๋ เป็นอาหารที่เกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้านในภาคเหนือ และเป็นการถนอมอาหารเพื่อเก็บไว้กินเป็นเวลาเเรมปี นอกจากที่ชาวบ้านจะทำไว้กินเองเเละยังนำไปจำหน่ายสร้างรายได้งาม