ตีกลองเบิกฟ้า ขับลื้ออัญเจิญเตวดา สู่สวรรค์

แชร์ข่าวพะเยา

     ส่งวิญญาณบรมครูบรมครูกลองปูจา(บูชา) อายุ 89 ปี ผู้อนุรักษ์ศิลปะไทลื้อ และผู้ร่วมก่อตั้งชมรมฆ้อง-กลองวัดพระธาตุสบแวน อำเภอเชียงคำจังหวัดพะเยา โดย ลูกศิษย์พร้อมใจ “ ตีกลองเบิกฟ้า ขับลื้ออัญเจิญเตวดา สู่สวรรค์ ” สดุดีบูชาครู

     วันที่7ตุลาคม2564 กลุ่มผู้อนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรมของชาวไทลื้อ ในพื้นที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา กำลังแสดงศิลปวัฒนธรรมไทลื้อ ประกอบด้วย การตี ฆ้อง-กลอง ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง ขับลื้อ ซึ่งมีทั้งความอ่อนช้อย งดงาม ฮึกเหิมและเร้าใจ รวมทั้งหาดูได้ยาก โดยการแสดงดังกล่าว จัดขึ้นในงานฌาปนกิจ ของพ่อครูทอง พวงมะลิ บรมครูกลองปูจา(บูชา)อายุ 89 ปี ที่เป็นชาวเชียงคำโดยกำเนิด ณ สุสานวัดพระธาตุสบแวน ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา โดยทางศิษยานุศิษย์ ได้จัดพิธี-“ตีกลองเบิกฟ้า ขับลื้ออัญเจิญเตวดา สู่สวรรค์” เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงามความดีของพ่อครูบุญทองที่ท่านเป็นผู้ร่วมก่อตั้งชมรมฆ้อง-กลองวัดพระธาตุสบแวน มาตั้งแต่ ปี 2547 และได้เสียชีวิตด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 เวลา 05.00 น. ที่ผ่านมา

    ประวัติโดยย่อ พ่อครูทอง ได้รับการศึกษาจากวัดพระธาตุสบแวน ซึ่งครั้งนั้นท่านได้ ได้รับถ่ายทอดศิลปะการตีฆ้อง-กลองหลวง จากพระผู้ใหญ่ในวัดพระธาตุสบแวน ด้วยความที่สนใจทางด้านนี้กอร์ปกับเป็นคนที่เฉลียวฉลาด มีไหวพริบดีจึงเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและจนช่ำชอง ท่านก็สามารถ ตีกลองหลวงได้ทั้ง 5 ท่วงทำนอง ได้แก่ 1.กลองปูจา(บูชา) 2.กลองสะบัดชัย 3.กลองแซะ 4.กลองโมงเซิงและ 5.กลองแอว(กลองยาว) หลังจากนั้นท่านได้เริ่มรับศิษย์รุ่นแรกเมื่อปี พ.ศ.2547 จนมาถึงปัจจุบันมีลูกศิษย์มากกว่า 30 คนที่ได้รับถ่ายทอดโดยตรง ซึ่งในวันนี้กลุ่มลูกศิษย์ของพ่อครูทอง ซึ่งบางคนอายุเกือบ 70 ปี แต่งกายโดยชุดประจำของชาวไทลื้อแบบโบราณอย่างสวยงาม นำมาแสดงในงานฌาปนกิจศพของท่าน เพื่อให้ท่านได้ดูและฟังเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งการแสดงเหล่านี้ไม่ได้ใช้เพียงงานอวมงคลเท่านั้น ยังมีการแสดงในงานมงคลพิธีต่าง เช่นงานแต่ง งานบวช พิธีต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง หรือในสมัยก่อนยังใช้ในการปลุกใจยามออกศึกสงครามอีกด้วย

     นายจรัส สมฤทธิ์ อายุ 67 ปี ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพ่อครูทอง กล่าวว่า ตนเองได้รับการถ่ายทอดการตีกลองหลวง เมื่อปี พ.ศ.2547 หรือเมื่อ 17 ปีก่อน โดยมีเพื่อนร่วมการถ่ายทอดอีกกว่า 10 คน ในการสอนของพ่อครูทอง จะสอนแบบตัวต่อตัวโดยไม่หวงวิชา คอยชี้แนะอยู่ตลอดเวลา จนลูกศิษย์เข้าใจและสามารถนำไปถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์รุ่นหลังๆได้โดยไม่ผิดเพี้ยน การจากไปของพ่อครูทองนั้น เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของลูกศิษย์ที่รักและศรัทธาในตัวของท่าน ดังนั้นในวันนี้ ลูกศิษย์ที่ได้รับข่าวนี้ ต่างก็พากันมาเคารพร่างอันไร้วิญญาณของท่าน โดยการแสดงศิลปวัฒธรรมที่พ่อครูรักและหวงแหนให้ท่านได้ดูและฟังเป็นครั้งสุดท้าย   หลังจากนี้ ทางลูกศิษย์และทางชมรมฆ้องกลองวัดพระธาตุสบแวน จะนำรูปของพ่อครูทอง มาตั้งไว้ยังอาคารของชมรมฆ้อง-กลอง ในวัดพระธาตุสบแวน พร้อมจารึกชื่อให้ท่านว่าเป็น บรมครูฆ้อง-กลองเชียงคำ ทั้งนี้เหล่าลูกศิษย์ทั้งหมดก็จะได้นำวิชา ฆ้อง-กลอง ฟ้อนดาบฟ้อนเจิง ขับลื้อ ถ่ายทอดให้กับผู้ที่สนใจและเยาวชนรุ่นหลังๆต่อไป


แชร์ข่าวพะเยา