เชื่อมโยงตลาดสินค้าเกษตร ลิ้นจี่แม่ใจพะเยา

แชร์ข่าวพะเยา

    พาณิชย์จังหวัดพะเยา จัดกิจกรรมส่งเสริมการเชื่อมโยงด้านการตลาดสินค้าทางการเกษตร ลิ้นจี่แม่ใจ พัฒนาศักยภาพด้านการตลาดและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าจังหวัดพะเยา หลังกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศให้ลิ้นจี่แม่ใจพะเยา ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 โดยให้มีผลตั้งแต่ยื่นคำขอขึ้นทะเบียน 25 กุมภาพันธ์ 2558 ปัจจุบันเกษตรกรได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (GI) 17 ราย

สินค้าที่แปรรูปจากผลผลิตลิ้นจี่หลากหลาย  รวมทั้งผลผลิตลิ้นจี่ ถูกนำมาแสดงในงานกิจกรรมส่งเสริมการเชื่อมโยงสินค้าเกษตร “ลิ้นจี่แม่ใจพะเยา” ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพ ด้านการตลาดและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าจังหวัดพะเยา ณ สวนภูษิต ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ซึ่งถือเป็นสวนแรกของอำเภอแม่ใจ ที่นำลิ้นจี่มาปลูกเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมาซึ่งสำนักงานพาณิชย์จังหวัดพะเยา ได้จัดขึ้น เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาด เพิ่มช่องทางการจำหน่าย ทั้ง Online และ Offline สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกร รวมทั้งสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ลิ้นจี่จังหวัดพะเยาให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง โดยมีนายศักดิ์ฤทธิ์ สลักคำ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นประธานเปิดกิจกรรมดังกล่าว โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนเกษตรกรชาวสวนลิ้นจี่ในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

    ซึ่งนางศุภมิตร เต็งเผ่ พาณิชย์จังหวัดพะเยา กล่าวว่า ลิ้นจี่ เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดพะเยาที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนมาร่วม 53 ปี ลิ้นจี่ต้นแรกที่นำมาปลูกที่จังหวัดพะเยา เมื่อปี 2512 โดยอาจารย์ทองคำ สารถ้อย ซึ่งจังหวัดพะเยาเป็นแหล่ผลิตหนึ่งใน 3 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย และน่าน ผลผลิตในปี 2565 ประมาณ 4,000 กว่าตัน ร้อยละ 80 ปลูกในพื้นที่อำเภอแม่ใจ ร้อยละ 90 เป็นพันธุ์ฮงฮวยที่เพาะปลูกเป็นส่วนใหญ่ ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยต่อการทำสวนลิ้นจี่ของเกษตรกรทำให้คุณภาพของลิ้นจี่แม่ใจพะเยา มีความหอมอร่อย หวานอมเปรี้ยว เนื้อแห้ง มีลักษณะเฉพาะและมีความโดดเด่น ทั้งรสชาติ และมีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างจากแหล่งผลิตอื่น ดังคำกล่าวที่ว่า “ไหล่ยก อกตั้ง หนามหด ก้นป้าน” ซึ่งทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จังได้ประกาศให้ลิ้นจี่แม่ใจพะเยา ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 โดยให้มีผลตั้งแต่ยื่นคำขอขึ้นทะเบียน 25 กุมภาพันธ์ 2558 ปัจจุบันเกษตรกรได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (GI) 17 ราย ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของเกษตรกรและชาวจังหวัดพะเยาที่มีพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้ และยังได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย สามารถมีแบรนด์ลิ้นจี่ที่มีคุณลักษณะพิเศษเฉพาะพื้นที่เป็นของตนเองและสร้างมูลค่าเพิ่มได้

    สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การแสดงดนตรีในสวน บุฟเฟต์ลิ้นตี่ GI เยี่ยมชมสวนลิ้นจี่ต้นแรก การให้บริการส่งลิ้นจี่โดยไปรษณีย์ไทย และการประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ลิ้นจี่ GI และสินค้าเด่นของจังหวัดพะเยา


แชร์ข่าวพะเยา