นายวุฒิชัย เสาวโกมุท รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัดพะเยา (กพร.ปจ.) ครั้งที่ 1/2563 ณ ห้องประชุมจอมทอง ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดพะเยา อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับแผนพัฒนากำลังคนจังหวัดพะเยา ปี พ.ศ.2560-2564 ให้ทันสมัย เป็นปัจจุบัน และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ได้แถลงต่อรัฐสภา แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นโยบายกระทรวงแรงงาน และแผนพัฒนาจังหวัดพะเยา และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) โดยใช้การประชุม กพร.ปจ. เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการปรับปรุงและยกระดับรูปแบบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ประสานความร่วมมือ และบูรณาการแผนการดำเนินการระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากำลังคนในจังหวัดพะเยาให้มีเอกภาพและตอบสนองกับความต้องการกำลังแรงงานของทุกภาคส่วน สำหรับแผนพัฒนากำลังคนจังหวัดพะเยา ปี พ.ศ.2560-2564 ได้กำหนดอุตสาหกรรมนำร่องที่จำเป็นเร่งด่วน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมที่พักและบริการด้านอาหาร 2. กลุ่มอุตสาหกรรมด้านธุรกิจท่องเที่ยว 3. กลุ่มสัมมาชีพชุมชน โอท็อป และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และ 4. กลุ่มเกษตรกรรม อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และอุตสาหกรรมอาหาร
นายเสริมสกุล พจนการุณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้ ได้พิจารณาปรับแผนพัฒนากำลังคนจังหวัดพะเยาฯ ให้สอดรับกับบริบทการพัฒนาในภาพรวมของประเทศ ทิศทางการพัฒนาจังหวัดพะเยาและกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ซึ่งมีมิติการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและชัดเจน มีประเด็นสำคัญที่จำเป็นอย่างยิ่งต้องเร่งปรับแผนพัฒนากำลังคนฯ รองรับ ดังนี้ ประเด็นแรก เน้นการพัฒนากำลังคนรองรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงวัฒนธรรม รวมถึง ด้านโลจิสติกส์เพื่อรองรับการเปิดด่านสากลปางมอญ สปป.ลาว ที่เพิ่งเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเชื่อมต่อกับจุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวก อ.ภูซาง ประเด็นที่ 2 มุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนรองรับ “พะเยาเมืองสุขภาพ (Phayao wellness)” การจัดตั้งซีเนียร์คอมเพล็กซ์จังหวัดพะเยารองรับสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ที่มุ่งพัฒนาทักษะฝีมือกลุ่มแรงงานผู้สูงอายุวัยต้น (อายุ 60-69 ปี) เพื่อทดแทนแรงงานในสาขาอาชีพที่ขาดแคลน และในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรายได้ดีและท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ รองรับการพำนักทั้งระยะสั้นและระยะยาวของผู้สูงอายุทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สอดรับกับจุดแข็งของจังหวัดพะเยาที่มีศูนย์การแพทย์มาตรฐานของมหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งเป็นแม่เหล็กดึงดูดสำคัญด้านบริการสุขภาพที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุสมาชิกวิสาหกิจชุมชน กลุ่มสัมมาชีพและโอทอปที่อยู่ในชุมชน ประเด็นที่ 3 การยกระดับมาตรฐานฝีมือผู้ประกอบกิจการร้านอาหารกลุ่มสตรีทฟู๊ด หาบเร่ แผงลอย (Street food) รวมถึงธุรกิจรถโมบายขายอาหาร “ฟู๊ดทรัค (Food truck)” รวมถึงธุรกิจรถจักรยานยนต์โมบายขายกาแฟ “ไบค์คาเฟ่ (Bike cafe)” ประเด็นที่ 4 เน้นการพัฒนาทักษะดิจิทัลและทักษะสนับสนุนจำเป็น (Soft skill) อย่างเร่งด่วน รองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี (Technology transformation) การนำดิจิทัลสู่ชุมชนเต็มรูปแบบ การพัฒนาแอพพลิเคชัน Beyond Phayao City สู่ “พะเยาเมืองอัจฉริยะ (Smart city)” รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับข้อมูลทางวัฒนธรรม และการสร้างเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน โดยบูรณาการร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) รวมถึงการพัฒนาทักษะรองรับระบบเกษตรอัจฉริยะผ่านสมาร์ทโฟนและเกษตรแม่นยำ และประเด็นที่ 5 การพัฒนาแนวทางการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่ครอบครัวนักเรียนยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ม.3 ที่บูรณาการร่วมกับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน