พัฒนาฝีมือแรงงานพะเยาฝึกเตรียมแรงงานใหม่ สร้างผู้ประกอบอาหารไทยคุณภาพ รองรับพะเยาเมืองสุขภาพ

แชร์ข่าวพะเยา

ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นประธานเปิดการฝึกเตรียมเข้าทำงาน ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ สาขา ผู้ประกอบอาหารไทย ให้กับผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโรคระบาดจากเชื้อไวรัสโรคปอดอักเสบโคโรน่า 2019 (โควิด-19) และแรงงานใหม่ที่สนใจประกอบอาชีพผู้ประกอบอาหารไทย จำนวน 22 คน ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 17 สิงหาคม – วันที่ 25 กันยายน 2563 ณ อาคารฝึกด้านอาหาร สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา



นายสง่า วงศ์ษาพาน ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า การฝึกเตรียมเข้าทำงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้รับการฝึกมีความรู้ ความสามารถ และความเข้าใจในการประกอบอาหารไทย สามารถทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยจะได้รับความรู้ด้านเครื่องเทศ สมุนไพร และเครื่องปรุงต่างๆ การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์และการดูแลรักษาอุปกรณ์ได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้ผู้รับการอบรมเป็นแรงงานที่มีคุณภาพและสามารถนำความรู้ไปใช้ในสถานประกอบกิจการและประกอบอาชีพส่วนตัวได้ ทั้งนี้ ผู้รับการฝึกจะได้รับการฝึกใน 4 หมวดหลัก ได้แก่ หมวดความรู้ความสามารถพื้นฐาน เน้นความปลอดภัยและสุขอนามัยในการทำงาน หมวดความรู้ความสามารถพื้นฐานทางช่าง เน้นโภชนาการส่วนบุคคลและอนามัย เกี่ยวกับสุขาภิบาลอาหาร อนามัยในการประกอบอาหาร การทำอาหารให้สงวนคุณค่าทางโภชนาการ ให้ถูกต้องตามชนิดอาหาร ให้น่ารับประทาน รวมถึง ศิลปะในการจัดและตกแต่งอาหาร และหลักในการประกอบอาหารทั้งก่อนทำ กำลังทำ และทำแล้ว หมวดความรู้ความสามารถหลัก เน้นการทำเมนูอาหารเครื่องน้ำพริกแกงต่างๆ อาหารประเภทยำ เครื่องจิ้ม ผัก ต้มแกงจืด ต้มส้มต้มยำ ต้มโคล้ง ประเภทแกง อาหารจานเดียว อาหารประเภทเจ อาหารมังสวิรัติ อาหารประจำภาคหรือพื้นเมือง อาหารว่างเรียกน้ำย่อย อาหารว่าง และหมวดความรู้ความสามารถเสริม เน้นการทำเครื่องดื่มสมุนไพร ขนมพื้นฐานและขนมหวานต่างๆ ศิลปะในการจัดและตกแต่งอาหาร ผู้รับการฝึกต้องฝึกภายในสำนักงาน 40 วัน (280 ชั่วโมง) และฝากฝึกในสถานประกอบการร้านอาหาร อีก 1 เดือน (140 ชั่วโมง) ภายหลังสำเร็จการฝึก สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา จะจัดทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขา ผู้ประกอบอาหารไทย ระดับ 1




ผู้ผ่านการฝึกที่มีสิทธิ์ได้รับหนังสือรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติจะต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ โดยต้องได้คะแนนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติไม่ต่ำกว่าร้อยละเจ็ดสิบ ผู้ที่ผ่านมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 1 จะได้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในอัตราวันละ 440 บาท ซึ่งสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดพะเยาที่กำหนดเพียง 320 บาทเท่านั้น




แชร์ข่าวพะเยา