พัฒนาฝีมือพะเยาจับมือสมาพันธ์ SME ฝึกทำหนังสั้น ขายผลิตภัณฑ์แปรรูปกล้วยน้ำว้าของฝากเชียงม่วน

แชร์ข่าวพะเยา

นายเสริมสกุล พจนการุณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา ร่วมกับนายบุญชู กมุทมาโนชญ์ เลขาธิการสมาพันธ์ SME ไทยภาคเหนือ ดำเนินการฝึกอาชีพเสริม สาขาการทำแผนธุรกิจ บรรจุภัณฑ์และช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากล้วยน้ำว้าออนไลน์ ให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ จำนวน 20 คน ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 2 กันยายน 2563 ต่อยอดจากการฝึกการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกล้วยน้ำว้า ซึ่งปลูกมากในพื้นที่อำเภอเชียงม่วน ที่ได้ดำเนินการฝึกภาคเทคนิค ระหว่างวันที่ 24-30 สิงหาคม 2563 ตามโครงการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และช่องทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (กล้วยน้ำว้า) ณ ศาลาอเนกประสงค์บ้านปิน หมู่  3 ตำบลเชียงม่วน อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ถือว่าเป็นการดำเนินการตามมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากโครงการ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี มีอาชีพที่มั่นคง ครอบครัวมีสุข ด้วยการฝึกอบรมฝีมือแรงงานเพื่อพัฒนาอาชีพในพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ จังหวัดพะเยา ได้รับการสนับสนุนงบประมาณประจำปี พ.ศ.2563 จากกรมชลประทาน

นายเสริมสกุล พจนการุณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา เปิดเผยว่า การฝึกอาชีพในครั้งนี้ เป็นหลักสูตรยาว 10 วัน โดยแบ่งเป็น 2 ภาค คือ ภาคเทคนิค (ระยะเวลา 7 วัน) เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วยน้ำว้า ซึ่งปลูกมากในพื้นที่อำเภอเชียงม่วน กล้วยน้ำว้าเป็นสินค้าเกษตรหลักที่แตกต่างจากกล้วยหอม ซึ่งปลูกมากในอำเภออื่นๆ เช่น ดอกคำใต้ เชียงคำ และจุน โดยเน้นการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กล้วยน้ำว้ากรอบ กล้วยเส้นทรงเครื่อง กล้วยนำว้าม้วนงาทอง กล้วยฉาบโบราณ กล้วยฉาบงาทอง กล้วยเบรคแตก กล้วยน้ำว้าอบน้ำผึ้ง กล้วยน้ำว้าเคลือบช็อคโกแลตถั่วทอง กล้วยน้ำว้าเคลือบสูตรต่างๆ เพื่อพัฒนาเป็น “ผลิตภัณฑ์กล้วยน้ำว้าของฝากคุณภาพเชียงม่วน” สำหรับจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว รวมถึงเทคนิคการบรรจุผลิตภัณฑ์และการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์กล้วยน้ำว้า เทคนิคการเล่าเรื่องราวบนบรรจุภัณฑ์ที่บรรยายถึงคุณค่าทางโภชนาการที่โดดเด่นกว่ากล้วยชนิดอื่นๆ ของกล้วยน้ำว้า รวมถึงแหล่งปลูกกล้วยน้ำว้าที่มีคุณภาพและปลอดสารเคมี และภาคช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปกล้วยน้ำว้า (ระยะเวลา 3 วัน)

โดยมุ่งเน้นการสอนเทคนิคการขายสินค้าและบริการ การรีวิวสินค้า การกำหนดราคาเชิงกลยุทธ์ การนำเสนอสินค้าในที่สาธารณะตามมหกรรมจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์โอทอป เทคนิคการถ่ายภาพนิ่ง และภาพยนตร์สั้นด้วยสมาร์ทโฟน การโฆษณาสินค้าในสื่อสังคมออนไลน์ เน้นนำดิจิทัลสู่ชุมชน เพื่อดึงศักยภาพในตัวสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ให้สามารถโฆษณาขายสินค้าของตนทั้งในตลาดออฟไลน์ (ตลาดดั้งเดิม) เช่น ตลาดประชารัฐ มหกรรมจำหน่ายสินค้า หรือนิทรรศการต่างๆ และตลาดออนไลน์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง สามารถรับออร์เดอร์หรือใบสั่งสินค้าจากลูกค้าได้โดยตรง จึงเป็นการเพิ่มโอกาสและช่องทางการจำหน่ายสินค้า


แชร์ข่าวพะเยา