พัฒนาฝีมือพะเยาประชุมอนุกรรมการพัฒนาแรงงานฯ ปรับแผนรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเที่ยวและบริการปกติวิถีใหม่ และเขตเศรษฐกิจพิเศษล้านนาตะวันออก

แชร์ข่าวพะเยา

นายวุฒิชัย เสาวโกมุท รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัดพะเยา (กพร.ปจ.) ครั้งที่ 2/2563 ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพะเยา อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับแผนพัฒนากำลังคนจังหวัดพะเยา ปี พ.ศ.2560-2564 ให้ทันสมัย เป็นปัจจุบัน โดยเฉพาะ รองรับสังคมปกติวิถีใหม่ และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นโยบายกระทรวงแรงงาน และแผนพัฒนาจังหวัดพะเยา และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) โดยเฉพาะนโยบายพัฒนาเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษล้านนาตะวันออก ผ่านกลไกการประชุม กพร.ปจ. เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการปรับปรุงและยกระดับรูปแบบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ประสานความร่วมมือ และบูรณาการแผนการดำเนินการระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากำลังคนในจังหวัดพะเยาให้มีเอกภาพและตอบสนองกับความต้องการกำลังแรงงานของทุกภาคส่วน สำหรับแผนพัฒนากำลังคนจังหวัดพะเยา ปี พ.ศ.2560-2564 ได้กำหนดอุตสาหกรรมนำร่องที่จำเป็นเร่งด่วน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมที่พักและบริการด้านอาหาร 2. กลุ่มอุตสาหกรรมด้านธุรกิจท่องเที่ยว 3. กลุ่มสัมมาชีพชุมชน โอท็อป และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และ 4. กลุ่มเกษตรกรรม อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และอุตสาหกรรมอาหาร

นายเสริมสกุล  พจนการุณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา เปิดเผยว่า ผลการประชุมมุ่งเน้นขับเคลื่อนแผนพัฒนากำลังคนจังหวัดพะเยารองรับสังคมปกติวิถีใหม่ให้สอดรับมาตรฐานที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย หรือ Amazing Thailand Safety & Health Administration : SHA เพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวควบคู่มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย โดยได้กำหนด 10 ประเภทกิจกรรม ซึ่งในจังหวัดพะเยาได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ โรงแรม/ที่พักและสถานที่จัดประชุม และร้านอาหาร รวมถึง การพัฒนากำลังแรงงานที่มีทักษะหลากหลาย คนเดียวสามารถทำงานได้ 2-3 หน้าที่ขึ้นไป เป็นแรงงานที่นายจ้างต้องการในยุคปกติวิถีใหม่ ที่เศรษฐกิจทั้งประชุมเสร็จหดตัวอย่างมาก

นอกจากนี้ ต้องเน้นเตรียมกำลังแรงงานรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษล้านนาตะวันออก ที่มุ่งเน้นภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะจังหวัดพะเยา ให้มีศักยภาพสูงในการพัฒนาสู่การเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง มีความสมบูรณ์ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ การให้บริการด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา รวมถึงการผลิตสินค้าสร้างสรรค์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนการผลิตสินค้าการเกษตรปลอดภัย และเกษตรอินทรีย์ ตลอดจนการพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุเพื่อการท่องเที่ยวและการพำนักระยะยาวของนักท่องเที่ยวและผู้สูงอายุทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ รองรับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบของจังหวัดพะเยา และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ในปี พ.ศ. 2564


แชร์ข่าวพะเยา