นายเสริมสกุล พจนการุณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา ร่วมกับนางสาวพิณลาวัลย์ ฟักแก้ว ผู้อำนวยการบริษัทโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) สาขาพะเยา เปิดฝึกยกระดับฝีมือบุคลากรด้านโลจิสติกส์ สาขา ผู้ควบคุมรถยกสินค้าขนาดไม่เกิน 10 ตัน ให้กับพนักงานบริษัท จำนวน 30 คน ณ คลังสินค้า บริษัทโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) สาขาพะเยา ต.บ้านต๋อม อ.เมือง จ.พะเยา ดำเนินการฝึกระหว่างวันที่ 9-12 กุมภาพันธ์ 2564
นายเสริมสกุล พจนการุณ เปิดเผยว่า ผู้ควบคุมรถยกสินค้าขนาดไม่เกิน 10 ตัน หมายถึง บุคคลที่ทําหน้าที่ในการบริหารจัดการและควบคุมการขับเคลื่อนรถยกสินค้าขนาดไม่เกิน 10 ตัน ในพื้นที่คลังสินค้า ปฏิบัติงานยกสินค้าโดยใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์พิเศษ ตลอดจนวางแผน บริหาร จัดการรถยกสินค้าให้เพียงพอต่อการใช้งาน วางแผนในการซ่อม แจ้งซ่อมรถยกสินค้า เพื่อให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงานตลอดเวลา ตรวจสอบระบบการทํางานหรือควบคุมระบบการทํางานต่าง ๆ ให้มี ความปลอดภัยตามที่กําหนดในคู่มือมาตรฐานการทํางาน ทั้งนี้ การฝึกอบรมมุ่งเน้นให้พนักงานมีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาอาชีพผู้ควบคุมรถยกสินค้าขนาดไม่เกิน 10 ตัน ระดับ 1 (มีทั้งสิ้น 4 ระดับ) ซึ่งหมายถึง บุคคลที่สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบในการปฏิบัติงานขับรถยกเคลื่อนย้ายสินค้าได้ตามใบสั่งงาน รายงานต่อผู้บังคับบัญชากรณีรถยกเสียหายใช้งานไม่ได้หรือกรณีเกิดอุบัติเหตุขณะปฏิบัติงาน สามารถปฏิบัติงานที่ไม่ซับซ้อนและไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามขอบเขตที่ได้รับมอบหมาย มีความรู้เบื้องต้นและความเข้าใจในงานที่รับผิดชอบ ปฏิบัติงานที่มีการระบุลักษณะงานที่ชัดเจน และอยู่ภายใต้การดูแลของผู้บังคับบัญชาในลําดับถัดไปอย่างใกล้ชิด
เนื้อหาการฝึกอบรมจะครอบคลุมการปฏิบัติตามกฎระเบียบในการปฏิบัติงาน การขับรถยกเคลื่อนย้ายสินค้าตามใบสั่งงานวัสดุและสินค้า การจัดเรียงสินค้าแต่ละชนิด ผังการจัดเก็บสินค้า รายละเอียดใบสั่งงาน การขับขี่รถยกอย่างถูกต้องและปลอดภัย และการบันทึกผลการปฏิบัติงานตามรูปแบบที่กําหนด การรายงานกรณีรถยกเสียหายใช้งานไม่ได้ และการรายงานอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติงาน รวมถึงความมีระเบียบวินัย มีจิตสํานึกในการปฏิบัติงานอย่างถูกต้องและปลอดภัย มีความซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ทั้งนี้ ผู้ผ่านการฝึกยกระดับฝีมือจะได้เข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 1 ซึ่งผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานฯ จะได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในอัตราวันละ 400 บาท (ที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ที่กำหนดไว้เพียงวันละ 320 บาท เท่านั้น)