พัฒนาฝีมือแรงงานพะเยาจับมือ บ.แอโร่กรุ๊ป (1992) นำร่องฝึกบินโดรนเกษตร ยกระดับสู่ Smart Farmer

แชร์ข่าวพะเยา

นายชุติเดช มีจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมโครงการพัฒนาทักษะอาชีพผู้บังคับอากาศยานไร้คนขับ (Drone) เพื่อการเกษตร หลักสูตรอาชีพเสริม สาขา “ผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (Drone) เพื่อการเกษตร” ให้กับเกษตรกรสมาชิกวิสาหกิจชุมชนชาวนาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนอำเภอเชียงคำ และเกษตรกรผู้สนใจในพื้นที่อำเภอเชียงคำ และพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 28 คน ณ โคกหนองนาโมเดล บ้านปางมดแดง หมู่ที่ 10 ตำบลอ่างทอง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ดำเนินการฝึกอบรมระหว่างวันที่ 17 – 19 กุมภาพันธ์ 2564 โดยมีนายจิรทีปต์ คงธนจรุงสกุล ประธานวิสาหกิจชุมชนชาวนาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนอำเภอเชียงคำ เจ้าของสถานที่ฝึกอบรมให้การต้อนรับ

      ดร.กฤษดา อัครพัทธยากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอโร กรุ๊ป (1992) จำกัด เปิดเผยว่า การฝึกอบรมในครั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยนายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กับบริษัท แอโร กรุ๊ป (1992) จำกัด โดยนายกฤษดา อัครพัทธยากุล กรรมการผู้จัดการ ได้ลงนามความร่วมมือโครงการพัฒนาทักษะอาชีพผู้บังคับอากาศยานไร้คนขับ (Drone) เพื่อการเกษตร บันทึกความร่วมมือดังกล่าวฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไทยด้วยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการเกษตร ช่วยลดเวลาการทำงาน เพิ่มผลผลิต และลดความเสี่ยงจากการสัมผัสสารเคมีจากการฉีดพ่นโดยตรง รวมถึงเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้าง และผู้ว่างงานจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืนต่อไป โดยทางบริษัท แอโร กรุ๊ป (1992) จำกัด เป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมในครั้งนี้ทั้งหมด ทั้งนี้ การใช้อากาศยานไร้คนขับโดรนเพื่อการเกษตร ทำการพ่นสารกำจัดวัชพืช/แมลงศัตรูพืช และพ่นฮอร์โมนบำรุงพืช สามารถลดเวลาลงเมื่อเทียบกับการใช้แรงงานคน 3- 5 เท่า และช่วยลดปริมาณน้ำที่ใช้สำหรับการผสมสารลง 10-15 เท่า เพราะฉะนั้น น้ำยาที่ออกจากโดรนพ่นยาเปรียบเสมือนหัวเชื้อ ซึ่งค่าบริการฉีดพ่นสารเคมีโดยใช้อากาศยานไร้คนขับจะเท่ากับค่าจ้างแรงงานคน คือ ไร่ละประมาณ 50 -70 บาท (กรณีนาข้าว) โดยโดรนขนาด 10 ลิตร 1 ลำ สามารถทำงานได้มากถึง 100 ไร่ต่อวัน คิดเป็นเงิน 5,000-7,000 บาท (กรณีที่มีแบตเตอรี่มากพอ หรือเวียนชาร์จ) และสามารถลดความเสียหายที่เกิดจากการเหยียบย่ำพืชในระหว่างฉีดพ่น และลดความเสี่ยงเรื่องปัญหาสุขภาพจากการสัมผัส หรือสูดดมสารเคมีของตัวเกษตรกรเอง ซึ่งถือเป็นประโยชน์อย่างมาก

       นายเสริมสกุล พจนการุณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื้อหาการฝึกอบรม ประกอบด้วย ความรู้พื้นฐานทางด้านอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินเพื่อการเกษตร ความปลอดภัยและกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินเพื่อการเกษตร การผสมสารที่ใช้ในการพ่นเพื่อใช้สำหรับอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินเพื่อการเกษตร เช่น สารบำรุงพืช หรือกำจัดศัตรูพืช การบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินเพื่อการเกษตร เช่น การหว่านเมล็ดพันธุ์พืช การหว่านปุ๋ย และการพ่นยาฆ่าแมลง การขนย้ายและเก็บรักษาอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินเพื่อการเกษตร การซ่อมแซม และบำรุงรักษาเบื้องต้น สำหรับอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินเพื่อการเกษตร ทั้งนี้ การฝึกอบรมครั้งนี้เป็นรุ่นนำร่องรุ่นแรกของจังหวัดพะเยา โดยได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนตำบลอ่างทอง และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอเชียงคำ เป็นผู้คัดเลือกเกษตรกรที่สนใจประกอบอาชีพเป็นผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินเพื่อการเกษตร เข้ารับการฝึกอบรม​ ซึ่งถือเป็นการยกระดับการเกษตรกรของจังหวัดพะเยา สู่ Smart Farmer


แชร์ข่าวพะเยา