สาธารณสุขจังหวัดพะเยา ติวเข้มทีมปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ ( CDCU ) ระดับจังหวัดและอำเภอ

แชร์ข่าวพะเยา

     สาธารณสุขจังหวัดพะเยา ติวเข้มทีมปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ ( CDCU ) ระดับจังหวัดและอำเภอ เพื่อซักซ้อมแนวทางและมาตรการการสอบสวนโรคโควิด19    การเตรียมพร้อมจัดบริการตามแนวทางการรักษาที่บ้านและชุมชน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในขณะนี้

ที่ห้องประชุม 1 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพะเยา นายแพทย์ศุภชัย  บุญอำพันธ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพะเยา ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข จังหวัดพะเยา  เป็นประธานการประชุมทีมปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ ( CDCU ) ระดับจังหวัดและอำเภอ  กรณีพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019       ( โควิด19 )รายใหม่ในพื้นที่  ผ่านระบบโปรแกรม Zoom โดยมี นายแพทย์อนันต์ มาลัยรุ่งสกุล         รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลพะเยา ในฐานะหัวหน้ากลุ่มภารกิจปฏิบัติการเข้าร่วมประชุมด้วย  เพื่อแจ้งการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์หลังจากปิดแคมป์ก่อสร้างที่กรุงเทพมหานคร  และสถานการณ์ที่อ่อนไหว กรณีการระบาดโรคติดเชื้อโควิด19 ที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล  รวมทั้งข้อมูลการติดตามสถานการณ์รับคนพะเยากลับ  โดยข้อมูล ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา  ทั้งหมด 203 ราย แยกเป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อภายในจังหวัด จำนวน 13 ราย  เป็นผู้ป่วยยืนยันจากศูนย์ประสานรับคนพะเยากลับบ้าน จำนวน 190 ราย  แยกเป็นกรุงเทพมหานคร 122 ราย  ผู้ป่วยยืนยันจากจังหวัดอื่นๆ 68 ราย   ประกอบกับข้อมูลการเฝ้าระวังเชื้อกลายพันธุ์ในระดับประเทศ พบว่า 60% เป็นสายพันธ์อินเดีย(เดลต้า)  ซึ่งการแพร่ระบาดรวดเร็ว    หากกระบวนการสอบสวนโรคช้า จะทำให้การควบคุมโรคเป็นไปได้ยาก   ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบัน พบผู้ป่วยที่ walk in เข้ามารับการตรวจจากคลินิกเฝ้าระวังในระบบโรคทางเดินหายใจมากขึ้น   ดังนั้นการสอบสวนในโรงพยาบาลค่อนข้างสำคัญ        จึงขอให้ทุกเครือข่ายบริการ  ซึ่งมีหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรค ครบตามมาตรฐาน อำเภอละ 3 ทีม      โดยเน้นย้ำว่า สถานการณ์ ณ ขณะนี้   ทีมปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ เป็นหัวใจสำคัญในการสอบสวนโรค ซึ่งในแต่ละอำเภอจะประกอบด้วยทีมจากโรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล    เพื่อความรวดเร็วและควบคุมโรคในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ  ทั้งการติดตามผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ  รวมทั้งการควบคุมกิจกรรม กิจการ ที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค           โดยทำงานร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคระดับอำเภอ  ตำบล และหมู่บ้าน   นอกจากนี้ได้แจ้งมติคณะกรรมการโรคติดต่อ จากการประชุมครั้งที่ 29/2564 วันที่ 19 กรกฎาคม 2564  ในการดำเนินการตามมาตรการการกักตัวผู้มีความเสี่ยงสูง และผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง  ที่เจ้าพนักงานโรคติดต่อออกคำสั่งให้กักตัว  14 วัน ในสถานที่กักตัวที่ราชการกำหนด ( LQ ) 10 วัน และกักตัวต่อที่บ้านหรือชุมชน ต่ออีก 4 วัน  โดยมีทีม ศปก.หมู่บ้าน  ศปก.ตำบล ศปก.อำเภอ  ควบคุมกำกับ  การบริหารเตียงรองรับผู้ป่วยในทุกกรณี  อีกทั้งได้สั่งการให้เครือข่ายสุขภาพทุกแห่ง  โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมพร้อมการให้บริการตามแนวทางการดูแลรักษาที่บ้าน ( Home Isolation ) และชุมชน  ( Community Isolation )  ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพะเยาแล้ว  การบริหารจัดการวัคซีนโควิด19 ตามแนวทางการฉีดวัคซีนโควิด19 สลับชนิด  ให้สอดคล้องกับการจัดสรรวัคซีนโควิด19 ของกระทรวงสาธารณสุข


แชร์ข่าวพะเยา