มหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมกับเทศบาลเมืองพะเยา สืบสานประเพณี ตานข้าวใหม่ใส่บาตรหลวง ตานข้าวทิพย์พระเจ้าตนหลวง โดยใช้ขบวนทางเรือ ที่สวยงามอลังการ ภายใต้งาน”กว๊านพะเยาสายน้ำแห่งชีวิต ตานข้าวทิพย์พระเจ้าตนหลวง”
วันที่4กุมภาพันธ์2565ขบวนแห่ทางเรือที่สวยงามอลังการ ที่ประกอบด้วยขบวนเรือเทพบุตร เทพธิดา ขบวนฟ้อนรำ และขบวนต่างๆร่วม 20 ลำ ในการแห่ขบวนข้าวทิพย์ ในงานประเพณีตานข้าวใหม่ใส่บาตรหลวง ตานข้าวทิพย์พระเจ้าตนหลวง ที่มหาวิทยาลัยพะเยาร่วมกับเทศบาลเมืองพะเยา จัดขึ้นเพื่อสืบสานประเพณีตานข้าวทิพย์ พระเจ้าตนหลวง” โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงษ์บางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา นายศักดิ์ฤทธิ์ สลักคำ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา พร้อม คณะเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยพะเยา เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองพะเยา และมีประชาชนชาวพุทธในจังหวัดพะเยานักท่องเที่ยว พร้อมใจกันลงเรือกว่า 200 คน เพื่อนำข้าวใหม่ รวมทั้งข้าวทิพย์ ไปถวายแด่พระเจ้าตนหลวง พระคู่บ้านคู่เมืองพะเยา ณ วัดศรีโคมคำ
โดยขบวนเรือถวายหมากสุ่ม พลูสุ่ม ต้นผึ้ง ต้นเทียน ขันขอศีล ข้าวทิพย์ ข้าวหลาม น้ำอ้อย ข้าวต้ม ข้าวหมอ และข้าวหลาม ซึ่งตกแต่งอย่างสวยงามแบบโบราณล้านนา โดยขบวนเรือทั้งหมดจะผ่านเส้นทางวัดติโลกอารามกลางกว๊านพะเยา ผ่านบ้านโบราณชายกว๊านพะเยา ผ่านอนุสาวรีย์พญางำเมืองและเข้าสู่ท่าเรือชั่วคราว หลังวิหารกลางน้ำ วัดศรีโคมคำ หรือวัดพระเจ้าองค์หลวง รวมระยะทางประมาณ 5 กม. เมื่อขบวนไปถึงท่าน้ำวัดศรีโคมคำ ได้นำเครื่องถวายต่างๆ เดินทางเข้าไปสู่วิหารหลวงที่ประดิษฐานพระเจ้าตนหลวงและทำพิธีถวายข้าวใหม่ สำหรับประเพณีตานข้าวใหม่ (ถวายทานข้าวใหม่) จะทำเดือน 4 เป็ง ตามปฏิทินชาวเหนือ ประเพณีตานข้าวใหม่ ทำบุญตักบาตร (ข้าวล้นบาตร) ประชาชนก็นำข้าวเปลือกข้าวสารใหม่ ข้าวหลาม ข้าวจี่ ข้าวต้ม ขนมจ๊อก ข้าวหลาม อาหาร น้ำตาล น้ำอ้อย ไปใส่บาตรและยังมีพิธีบูชากองหลัว (ฟืน) ถวายเป็นพุทธบูชาอีก คือพระภิกษุสามเณรและประชาชนชาวพุทธ ไปตัดเอาไม้จี่ (เผา) ยาวบ้าง สั้นบ้าง มาก่อเป็นกองหลัว(กองฟืน)ทำเป็นเจดีย์แล้วจุดบูชาตอนเช้า เป็นการบูชาพระรัตนตรัย โดยความหมายเพื่อเผากิเลส ตัณหาให้หมดไป ซึ่งปัจจุบันประเพณีดังกล่าวหาดูได้ยากแล้ว