ชมความงามพระเจ้าแบกข้าวใช้โครงแบบใบหน้าสาวสวยเป็นต้นแบบ

แชร์ข่าวพะเยา

      ชมความงดงามของพระเจ้าแบกข้าว ที่วิหารวัดสะพานคำ หมู่ที่ 10 ตำบลดอกคำใต้ อำเภอดอกคำใต้จังหวัดพะเยา สัญลักษณ์แห่งศรัทธาของชาวสันป่าเป้า โดยใช้แบบใบหน้าของสาวงามประจำหมู่บ้าน เป็นแบบสำหรับใบหน้าพระเจ้าแบกข้าว นอกจากนั้นภายในบริเวณวัดยังมีพระพุทธรูปหินทรายเก่าแก่ศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์พระเจ้าสามขา รวมทั้งสัตภัณฑ์ ที่มีอายุเก่าแก่มากกว่า 100 ปี ให้ให้เข้าเยี่ยมชมและกราบสักการะ

      พระประธานที่มีความสวยงาม โดดเด่นมีลักษณะใบหน้างดงามเหมือนหญิงสาว ที่ประดิษฐานบริเวณภายในวิหารวัดสะพานคำ หมู่ที่ 10 ตำบลดอกคำใต้ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ถือเป็นพระประธานที่สร้างความสนใจให้กับผู้พบเห็นได้อย่างไม่น้อย ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “พระแบกข้าว” ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความศรัทธาของชาวบ้านสันป่าเป้าดังกล่าว เนื่องจากพระพุทธรูปดังกล่าวมีอายุร่วม 100 ปีโดยการสร้างนั้นได้ปั้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2493 โดยใช้ใบหน้าของแม่อุ๊ยเขียว ไชยวงศ์ สาวงามประจำหมู่บ้านเป็นแบบสำหรับใบหน้าพระเจ้าแบกข้าว จึงทำให้ใบหน้าของพระพุทธรูปพระเจ้าแบกข้าวนั้น มีความสวยสดงดงามลักษณะคล้ายหญิงสาว

โดยนายโยธิน เผ่าเครื่อง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10 ตำบลดอกคำใต้ เล่าว่า แต่เดิมนั้นหมู่บ้านแห่งนี้ ได้มีการก่อตั้งขึ้นที่บริเวณตำบลท่าวังทอง อำเภอเมือง แต่ได้มีการเคลื่อนย้ายอพยพหมู่บ้าน มาที่แห่งนี้เป็นแห่งที่ 3 ซึ่งจากเดิมนั้นพระเจ้าแบกข้าวดังกล่าวนั้นได้ถูกจัดสร้างขึ้นเมื่อปี 2493 ซึ่งซึ่งเป็นจุดที่ 2 ที่ได้มีการอพยพมาอาศัย หลังจากที่ชาวบ้านได้มีการอพยพหนีน้ำขึ้นมาอาศัยอยู่ในจุดที่ 2 โดยชาวบ้าน ได้ว่าจ้างให้ช่างปั้นชาวตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมืองพะเยา เป็นคนปั้นขึ้นโดยใช้ใบหน้าของแม่อุ้ยเขียว ไชยวงศ์ นางงามประจำหมู่บ้านเป็นแบบสำหรับใบหน้าพระเจ้าแบกข้าวดังกล่าว และความเป็นมาของคำว่าพระเจ้าแบกข้าวนั้น เริ่มต้นจากที่การที่ชาวบ้านได้อพยพย้ายมาจัดสร้างหมู่บ้านแห่งนี้เมื่อประมาณปี 2513 จึงจึงได้มีแนวคิดว่าจะย้ายพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวนั้นมาอยู่ในที่แห่งนี้ จึงได้มีการเคลื่อนย้ายโดยลักษณะที่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ในการเคลื่อนย้าย โดยอาศัยรถบรรทุกจากชลประทานพะเยา บรรทุกมายังวัดสะพานคำ แห่งนี้ขณะที่มีการเคลื่อนย้ายนั้นชาวบ้านเกรงว่าจะทำให้พระพุทธรูปได้รับความเสียหาย จึงได้นำกระสอบป่านโดยข้างในจะใส่แกลบไว้ โดยใช้ลักษณะเป็นการป้องกันบริเวณส่วนเศียรพระพุทธรูป โดยการนำเอากระสอบที่ใส่บรรจุแกลบไว้วางทาบบนบ่าทั้ง 2 ข้าง จากนั้นได้มีการเคลื่อนย้าย ซึ่งชาวบ้านพบเห็นก็มีการพูดในเชิงขบขัน ว่าพระเจ้าแบกข้าว และในวันรุ่งขึ้นพบว่าคนที่กล่าวล้อเลียนดังกล่าวก็เกิดปวดท้องยังรุนแรงปัจจุบันทันด่วน จนต้องมาขอขมาพระพุทธรูปดังกล่าว จึงหายจากอาการปวดท้องซึ่งเป็นสิ่งที่น่าแปลกใจ จากนั้นชาวบ้านมักจะนิยมเรียกว่า “พระเจ้าแบกข้าว”ตั้งแต่นั้นมา ซึ่งเป็นที่สักการะบูชาของคนในพื้นที่ นอกจากนั้นภายในบริเวณวัดสะพานคำแห่งนี้ ยังได้มีพระพุทธรูปหินทรายเก่าแก่อยู่จำนวนหลายองค์ รวมทั้งพระทองสำฤทธิ์ที่ชาวบ้านเรียกว่าพระสามขา ซึ่งเป็นพระเก่าแก่ที่ชาวบ้านเคารพนับถือเป็นอย่างมาก โดยในหนึ่งปี นั้นจะนำออกมาให้พุทธศาสนิกชน ในพื้นที่ได้สักการะบูชา เพียง 2ครั้ง และยังได้มีสักตภัณฑ์เก่าแก่อายุมากกว่า 100 ปี ได้เข้าชมและศึกษาตลอดจนถึงสักการะบูชา

    สัมภาษณ์…นายโยธิน เผ่าเครื่อง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10 ตำบลดอกคำใต้ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา โทร…089-1912632


แชร์ข่าวพะเยา