นำร่องเปิดลานรับซื้อเมล็ดกาแฟ ครั้งแรกของจังหวัด ปรับตัวสู่พืชเกษตรมูลค่าสูง ด้วย “ก้าวสุขโมเดล”

แชร์ข่าวพะเยา

    นำร่องเปิดลานรับซื้อเมล็ดกาแฟ ครั้งแรกของจังหวัด ปรับตัวสู่พืชเกษตรมูลค่าสูง ด้วย “ก้าวสุขโมเดล”เพื่อรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง โดยการรับซื้อนั้นมุ่งเน้นด้านคุณภาพตามมาตรฐาน ยกระดับมูลค่าของผลผลิตกาแฟในประเทศไทย

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ณ สหกรณ์การเกษตรเมืองพะเยา ร่วมกับ บจ.สยาม คอฟฟี่ เทรด และ บจ.อินเตอร์ คอฟฟี่ เทรด จัดตั้งลานรับซื้อเมล็ดกาแฟแห่งแรกของจังหวัดพะเยา โดยตั้งเป้าหมายการรับซื้อกะลาเปียก ประจำปี 2567 จำนวน 700 ตัน โดยมีนายปรีชา ยะตา ประธานกรรมการ สหกรณ์การเกษตรเมืองพะเยา นายชลกฤษ ฟองสายชล หัวหน้าโครงการฯและผู้บริหาร บจ. สยาม คอฟฟี่ เทรด และ นายพันธ์ภูวดล จารุโชติรัตนสกุล กรรมการผู้จัดการ บจ.อินเตอร์ คอฟฟี่ เทรด และส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงนามสัญญาโครงการดังกล่าว ณ สหกรณ์การเกษตรเมืองพะเยา สาขาบ้านต๊ำ(ต.ท่าจำปี)

     นายปรีชา ยะตา ประธานสหกรณ์การเกษตรเมืองพะเยา กล่าวว่า การสนับสนุนเกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่นั้น ต้องพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ  กลางน้ำ และปลายน้ำ และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จึงได้มีการจับมือร่วมกับ บจ.สยาม คอฟฟี่ เทรด และ บจ.อินเตอร์ คอฟฟี่ เทรด เพื่อรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง โดยการรับซื้อนั้นมุ่งเน้นด้านคุณภาพตามมาตรฐาน ยกระดับมูลค่าของผลผลิตกาแฟในประเทศไทย เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอด ทั้งนี้ต้องสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้นกับตนเองก่อน โดยการสร้างจุดรับซื้อกะลากาแฟ , ศูนย์อบรมและพัฒนาคุณภาพกาแฟ , ศูนย์แปรรูปกะลากาแฟ เพื่อทำให้ผลผลิตมีคุณภาพและมีราคาที่ดีพร้อมส่งต่อภาคเอกชน

     คุณชลกฤษ ฟองสายชล หัวหน้าโครงการฯ และ ผู้บริหาร บจ. สยาม คอฟฟี่ เทรด (SCT) กล่าวด้วยว่า โอกาสและศักยภาพของกาแฟไทยสามารถช่วยสร้างโอกาส และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับ เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ รวมไปถึงสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจได้ โดยอาศัย “ก้าวสุขโมเดล” ที่เคยได้ทำร่วมกับสหกรณ์สำหรับ ข้าวหอมมะลิพะเยา ที่ได้ยกระดับมาตรฐานการผลิต และเชื่อมโยงการตลาดจนสามารถระบายข้าว และสร้างแบรนด์ให้กับสหกรณ์มาก่อนหน้านี้แล้ว

       โครงการนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการสนับสนุนในการพัฒนาคุณภาพของเมล็ดกาแฟภายในท้องถิ่นให้มีมูลค่าที่ดีขึ้น สนับสนุนผู้ประกอบการในวงจรธุรกิจกาแฟทั่วประเทศได้มีช่องทางในการซื้อ-ขายผลผลิตของเมล็ดกาแฟในราคาที่ยุติธรรม และที่สำคัญเพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวของจังหวัดพะเยา และ ผลักดันการไหลเวียนของเม็ดเงินในวงจรของร้านกาแฟ, คาเฟ่ และร้านอาหารภายในจังหวัด

       คุณพันธ์ภูวดล จารุโชติรัตนสกุล กรรมการผู้จัดการ บจ.อินเตอร์ คอฟฟี่ เทรด (โรงคั่วกาแฟพะเยา) เปิดเผยว่า การรับซื้อกาแฟจากเกษตรกรครั้งนี้ เป็นล็อตแรกซึ่งจะมีการรับซื้อกาแฟทั้งหมดจำนวน 700 ตัน แต่ทั้งนี้จะต้องขึ้นอยู่กับผลผลิตที่มีคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งจะต้องเป็นไปตามมาตรฐาน SCT Standard ที่ทาง บจ. สยาม คอฟฟี่ เทรด กำหนดขึ้น จากนั้น บจ.อินเตอร์ คอฟฟี่ เทรด จะรับซื้อในเฟสแรก 700 ตันทั้งหมด  ขณะที่แผนในระยะต่อไปหลังจากที่ได้มีการรับซื้อผลผลิตแล้วจะนำไป Process ให้ได้กาแฟกะลาให้มีมาตรฐาน แล้วส่งต่อให้กับโรงคั่วกาแฟพะเยาเพื่อสร้างมูลค่าต่อไป ถือเป็นการนำร่องเพื่อนำไปสู่การพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์กาแฟในรูปแบบต่างๆ หรือสร้างเรื่องราวสตอรี่และสื่อสารไปยังผู้บริโภคต่อไป

    คุณแพรวพร จักรภีร์ศิริสุข รองประธานหอการค้าจังหวัดพะเยา กล่าวว่า การปลูกกาแฟนั้นทางกลุ่มได้มองเห็นโอกาสจึงอยากส่งเสริมให้คนในพื้นที่ในจังหวัดพะเยาเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้เทคนิควิธีการต่างๆ ทั้งการเพาะพันธุ์ต้นกล้า การแปรรูป การคัดเมล็ดกาแฟ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่จะทำให้เยาวชนและประชาชนในพื้นที่มีอาชีพที่มั่นคง รวมถึงเป็นการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่นเพื่อเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน อยากให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุน ทำให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดพะเยาและใกล้เคียงหันมาปลูกกาแฟกันมากขึ้น แต่สายพันธ์และการปลูก

     รองศาสตราจารย์ ดร.อัจฉราภรณ์ ดวงใจ รองศาสตราจารย์ จากมหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวด้วยว่าในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีทางการเกษตรพัฒนาอย่างก้าวกระโดด จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะนำนวัตกรรมและงานวิจัยที่สร้างมูลค่าให้สูงขึ้นมาใช้กับผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะในภาคส่วนกาแฟ ที่ถึงแม้จะมีมูลค่าสูงในขั้นตอนแปรรูปปกติอยู่แล้ว แต่ในเชิงงานวิจัยก็ยังมีมูลค่าต่อยอดไปได้อีกสูงเช่นกัน ตัวอย่างเช่น การวิจัยในเชิงการแพทย์ เพราะสารสกัดในกาแฟมีส่วนช่วยในการลดไขมันในเลือดได้ หรือแม้แต่เชิงพาณิชย์ยังสามารถวิจัยและพัฒนาออกมาเป็นเครื่องดื่มใหม่ๆ หรือที่รู้จักกันเช่น Cascara (เปลือกของ ‘เชอร์รี่กาแฟ’) และตอนนี้ทาง ม.พะเยาเองก็ได้ร่วมกับภาคเอกชน ได้การพัฒนากาแฟแต่งกลิ่น Infused Coffee ออกมาสำเร็จแล้ว 2 ตัวได้แก่ กาแฟกลิ่นลิ้นจี่ กับกาแฟกลิ่นมะพร้าว

    คุณภาราดา จารุโชติรัตนสกุล ผู้เชี่ยวชาญชำนาญการด้านการคั่วกาแฟ SCA Certified ได้นำเสนอรประเมินคุณภาพเมล็ดกาแฟ ลำดับแรก 1.) Physical Grading การประเมินทางกายภาพสีตัวอย่างเป็นสารกาแฟ เริ่มจาก สีของเมล็ดกาแฟ สะอาด ไม่คล้ำ เมล็ดสมบูรณ์ กลิ่นกะลา/สาร สะอาดกลิ่นหมักไม่ฉุน กลิ่นผลไม้อ่อนๆ ข้อบกพร่องทางกายภาพน้อยกว่า5% เช่น แมลงเจ๊าะ เมล็ดแตก จากเครื่องสีเปลือก เมล็ดหูช้าง สิ่งแปลกปลอม และอื่นๆ 2.) Sensory Evaluation การประเมินด้วยรสสัมผัส ต้องไม่มีกลิ่นหรือรสไม่พึงประสงค์ เช่น Moldy : กลิ่นเชื้อรา Phenolic/Chemical : กลิ่นเหม็นคล้ายสารเคมี Earthy : กลิ่นดิน Ferment : กลิ่น/รส หมักฉุน มีรสเชิงบวก กรดกาแฟมีความผลไม้สด ไม่เปรี้ยวแหลม หรือออกน้ำส้มสายชู เนื้อสัมผัสนวลมีการเกาะลิ้น ความฝาดน้อย และปิดท้ายด้วยการดริปกาแฟ ให้ผู้เข้าร่วมได้ชิม

     ไฮไลท์ของงานวันนี้ คือสาธิตกระบวนการ รับซื้อกะลาเปียก จากตัวแทนชาวเขาดอยช้าง  โดยจะมีการน้ำรถบรรทุกกะลาเปียกชั่งน้ำหนัก รวมไปถึง ขั้นตอนการเทและ จะนำมาทำแห้งด้วยการตากแดดบนลานซีเมนซ์ เกลี่ยเมล็ดกาแฟให้กระจายตัว ความหนาไม่เกิน 4 นิ้ว กลับเมล็ดวันละ 2-4 ครั้ง ซึ่งจะช่วยไล่ความชื้นออกไปได้เร็วขึ้น เมื่อกาแฟแห้งได้ที่ ใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน จะบรรจุกาแฟให้อยู่ในรูปแบบ “กาแฟกะลา” ซึ่งมีข้อดีคือช่วยรักษาเนื้อกาแฟ ป้องกันความชื้น ให้คุณภาพของกาแฟยังคงที่เหมือนเดิม


แชร์ข่าวพะเยา