มหาวิทยาลัยพะเยาคุมเข้มมาตรการการเผาไฟป่า

แชร์ข่าวพะเยา

มหาวิทยาลัยพะเยา โอบล้อมไปด้วยภาพของภูเขาและป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งในช่วงฤดูฝนและฤดูของหนาวของทุกปี จะมีทัศนยีภาพที่สวยงาม จึงเหมาะสำหรับใช้เป็นสถานที่ศึกษาและทำงานให้กับ นักเรียน นิสิต บุคลากร ตลอดจนประชาชนทุกท่านที่ได้เข้ามาเยี่ยมชม และ สัมผัสบรรยากาศกับมหาวิทยาลัยพะเยาแห่งนี้แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งของทุกปี มหาวิทยาลัยพะเยามักเกิดปัญหาไฟป่า ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งต่อระบบนิเวศน์ ปัญหาทางด้านสภาพอากาศ ( ค่า PM2.5 เกินมาตรฐาน) ตลอดจนปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยหลัก ที่ต้องหาแนวทางการแก้ไข และสร้างมาตรการที่เข้มข้น ทั้งระดับจังหวัด และ ระดับสถานศึกษาในการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ดร.ชัชวาล ชัยวงค์ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า “ มหาวิทยาลัยพะเยาอิงเกณฑ์และดำเนินการตามประกาศของจังหวัดพะเยา ในมาตรการ การเฝ้าระวังการเผาป่า ซึ่งในช่วงผ่านมา ได้มีการประชาสัมพันธ์รณรงค์การงดเผาป่า พร้อมเชิญชวนประชาชนในพื้นที่ช่วยสอดส่องดูแล และเฝ้าระวังการเกิดเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการแจ้งข้อมูลข่าวสาร ให้กับประชาชนที่เข้ามาหาของป่าในมหาวิทยาลัยให้ทราบถึงกฎระเบียบ ข้อบังคับ และบทลงโทษของจังหวัดอย่างเครงคัด ทั้งนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟป่า มหาวิทยาลัยพะเยาได้รับความร่วมมือที่ดีจากเครือข่ายด้านการดับไฟป่า อาทิ หน่วยบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลตำบลแม่กา ป่าไม้จังหวัด ผู้นำชุมชนท้องถิ่นในเขตเทศบาลตำบลแม่กา และอาสาสมัครในท้องถิ่น เช่น ชุมชนบ้านโซ้  ชุมชนบ้านร่องคำหลวง  ชุมชนบ้านหม้อแกงทอง และชุมชนบ้านแม่นาเรือ ปัจจุบันหากเกิดเหตุไฟป่า ทางมหาวิทยาลัยพะเยา จะดำเนินตามขั้นตอนดังนี้

1. จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังการเกิดเหตุไฟไหม้ป่า และเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ดับไฟป่า ล่วงหน้าตลอดระยะเวลา 4 เดือน (มกราคม – เมษายน 2563) ตลอด 24 ชั่วโมง

2. แจ้งประสานงานผ่านโทรศัพท์ และ วิทยุสื่อสาร Line ไปยังหน่วยดับไปป่ามหาวิทยาลัย         กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยพะเยา ( หัวหน้ารปภ. และหัวหน้างานสิ่งแวดล้อมความปลอดภัยภูมิทัศน์ และผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่) 

3. ประสานงานทีมดับไฟป่ามหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อนำกำลังพลและเครื่องมือ รวมถึงรถดับเพลิงไปยังที่เกิดเหตุ ระหว่างนี้จะมีหน่วยล่วงหน้าเข้าพื้นที่ เพื่อแจ้งพิกัดและรายงานระดับความรุนแรง ตลอดจนระยะทางของแหล่งเกิดเหตุ

4. เมื่อดับไฟป่าเรียบร้อยแล้ว ข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งไปยังกองอาคารสถานที่ เพื่อจัดทำรายงานความเสียหายที่เกิดขึ้น ให้ผู้บริหาร ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ประชาคมในมหาวิทยาลัย               และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่รับทราบ พร้อมจัดสวัสดิการสำหรับผู้ช่วยดับไฟป่า และ ดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิด พร้อมประเมินผลการทำงานและความเสี่ยง วางแผนกลยุทธ์ เพื่อเตรียมรับมือการเกิดไฟป่าในคราวต่อไป”

ทั้งนี้ ในการดับไฟป่าทุกครั้ง มหาวิทยาลัยพะเยา พร้อมเครือข่ายการดับไฟป่า ยังคงมีความต้องการอุปกรณ์ในการดับไฟป่า อาทิ  1. พลังงานเชื้อเพลิงของเครื่องเป่าลม และเครื่องพ่นน้ำ          2.หน้ากากอนามัย และแว่นตา 3. อาหารและเครื่องดื่ม  4. เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น และอุปกรณ์ดูแลรักษาเท้า  5. ชุดปกป้องร่างกาย จากเปลวเพลิง (รวมถุงมือ ถุงเท้า และรองเท้า)       6. ไฟฉายสำหรับคาดศีรษะ 7. เครื่องช่วยหายใจแบบเคลื่อนที่ หากท่านใดประสงค์ที่จะทำการบริจาค สามารถติดต่อไปที่ กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยพะเยา หมายเลขโทรศัพท์ 054 466 666 ต่อ 1060

      ซึ่งการดำเนินการต่อไปเกี่ยวกับทางด้านไฟป่า มหาวิทยาลัยพะเยาจะดำเนินการเชิญชวนบุคลากร ประชาชนรอบๆมหาวิทยาลัย ตลอดจนนิสิตจิตอาสาร่วมกัน จัดทำแนวกันไปในพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัย โดยแบ่งออกเป็น แนวกันไฟชั้นนอก และแนวกันไฟชั้นใน แต่ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการทำดำเนินการทำแนวกันไฟมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดตารางเวรยาม และกองกำลังการเฝ้าระวังการเผาป่า บริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่เปิด และมีทางเข้าออกจากมหาวิทยาลัยสู่ชุมชนทุกจุด ในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2563 และรณรงค์ จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ และการเฝ้าระวัง การเกิดไฟป่า และการลักลอบเผาป่า ให้ประชาชนทั้งภายใน และภายนอกมหาวิทยาลัย  โดยเฉพาะชุมชนรอบมหาวิทยาลัยอีกทั้งยังจัดให้มีการ ฝึกซ้อมและอบรมเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า ให้มีความรู้ ความชำนาญและทักษะในการดับเพลิง และการดูแลสุขภาพอนามัย รวมถึงการปฐมพยาบาลเบื้องต้น อีกด้วย


แชร์ข่าวพะเยา