สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา ได้ดำเนินการฝึกยกระดับฝีมือแรงงานภาคการท่องเที่ยวและบริการ สาขา “การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากเศษผ้า” ให้กับ ให้กับช่างเย็บผ้าสมาชิกกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าชาติพันธุ์ผู้ไท (อีสาน-ล้านนา) ซึ่งเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวชุมชนโอทอปนวัตวิถี บ้านใหม่ราษฎร์บำรุง (จำไก่) จำนวน 20 คน ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 4-8 กรกฎาคม 2563 ณ ศาลาอเนกประสงค์ วัดใหม่ราษฎร์บำรุง หมู่ที่ 5 ต.สันโค้ง อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา
นายเสริมสกุล พจนการุณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา เปิดเผยว่า ชุมชนชาวผู้ไท (อีสาน-ล้านนา) บ้านใหม่ราษฎร์บำรุง ได้รับการพัฒนาเป็นหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยว เชื่อมโยงระหว่างกลุ่มจักสาน กับศูนย์เรียนรู้ชุมชน กลุ่มทอผ้า กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าชาติพันธุ์ผู้ไท กลุ่มแกะสลักไม้ กลุ่มโปงลาง กลุ่มทอเสื่อกกและโฮมสเตย์ กลุ่มแปรรูปสมุนไพรและอบสมุนไพร กลุ่มนวดสมุนไพรภูมิปัญญาพื้นบ้านย่ำข่าง และกลุ่มนวดแผนโบราณ ทั้งนี้ ช่างเย็บผ้าสมาชิกกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าประจำชาติพันธุ์ผู้ไท (อีสาน-ล้านนา) ได้ผ่านการฝึกเตรียมเข้าทำงาน สาขา เย็บจักรอุตสาหกรรม และได้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขา ช่างเย็บ ระดับ 1 ในเดือนสิงหาคม 2562 ทำให้สามารถสร้างรายได้เสริมจากการตัดเย็บเสื้อผ้าชาติพันธ์ผู้ไท จำหน่ายให้นักท่องเที่ยว เสริมรายได้จากอาชีพหลักภาคการเกษตร อีกเดือนละประมาณ 3,000-4000 บาทต่อคน โดยใช้เวลาว่างช่วงเย็น และช่วงที่ว่างจากกิจกรรมภาคการเกษตรให้เป็นประโยชน์
ดังนั้นการฝึกยกระดับฝีมือแรงงาน สาขา การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากเศษผ้าในครั้งนี้ จึงเน้นการต่อยอดเสริมทักษะการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จากเศษผ้าที่ต้องทิ้งเป็นขยะ ให้กลับมาใช้ประโยชน์ สร้างมูลค่าและรายได้เพิ่มให้กับช่างเย็บผ้าชาวผู้ไท กล่าวคือ สามารถนำเศษผ้าที่ไม่มีมูลค่ามาทำเป็นผลิตภัณฑ์พรมเช็ดเท้า ผ้ารองอาสนะของพระสงฆ์ หรือดัดแปลงลวดลายประยุกต์กับภูมิปัญญาทำเป็นพวงหรีดในงานศพที่มีมูลค่า สามารถจำหน่ายให้กับหมู่บ้านหรือตำบลใกล้เคียง และเป็นสินค้าที่ระลึกจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอดอกคำใต้ โดยเฉพาะหมู่บ้านโอทอปนวัตวิถีบ้านใหม่ราษฎร์บำรุง (จำไก่) ได้อีกด้วย