อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เดินทางเข้าเยี่ยมคณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อรับฟังนโยบายการดำเนินงานของคณะ โดยมีคณบดีและบุคลากรคณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม คณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม
คณบดีคณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม รองศาสตราจารย์.ตร.ต่อพงศ์ กรีธาชาติ ได้รายงานว่า มหาวิทยาลัยพะเยาเป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าค่อนข้างสูงและมีศักยภาพในการประหยัดพลังงานไฟฟ้า และสามารถติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในมหาวิทยาลัยได้ โดยได้ลงนามความร่วมมือ(MOU) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ซึ่งปัจจุบัน กำลังดำเนินการจัดทำแผนการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบ เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านพลังงานทดแทน
ทั้งนี้ คณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม กำลังเตรียมความพร้อมเข้าร่วมเครือข่าย Thailand Carbon Neutral Network : TCNN โดยตั้งเป้าเป็นองค์กรผู้พัฒนานวัตกรรมด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก (Climate Action Innovation) ซึ่งเป็นกลุ่มเน้นดำเนินโครงการ ที่ต้องการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย แสดงเจตนารมณ์ที่พัฒนาและขยายผลโครงการเพื่อยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม
โครงการ TCNN เป็นเครือข่ายที่มีการจัดตั้งโดย องค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. มีเป้าหมายหลักในการกำหนดนโยบายการทำงานเกี่ยวกับด้านคาร์บอน รวมถึงสร้างกลไกสำหรับการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย โดยจะส่งเสริมองค์กรที่มีศักยภาพในการงตั้งเป้าหมายสำหรับการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Neutral) ด้วยการลดก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กรของตน หาก ร่วมกับการซื้อ “คาร์บอนเครดิต” จากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER) ที่ดำเนินการผ่านภาคเอกชน ท้องถิ่นและชุมชน เช่น โครงการนำก๊าซมีเทนจากฟาร์มสุกรของเกษตรกรมาผลิตเป็นพลังงาน โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มาทดแทนไฟฟ้าจากสายส่ง เป็นต้น เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินกิจกรรมขององค์กรตนให้เป็นศูนย์ และยังเป็นโครงการสร้างรายได้จากการขาย “คาร์บอนเครดิต” ให้กับท้องถิ่นและชุมชนอีกด้วย
สำหรับบทบาทของมหาวิทยาลัยพะเยาใน TCNN นั้น มีเป้าหมายในการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น การใช้พลังงานทดแทน การเพิ่มพื้นที่ป่า การจัดการขยะ ภาคการเกษตร เป็นต้น เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม รวมถึงกลไกต่าง ๆ รวมถึงเสนอแนวคิดและกลไกในการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อเป็นกำหนดนโยบายการทำงานเกี่ยวกับด้านคาร์บอนของประเทศไทยต่อไป