ผอ.รร.ก๊อหลวงส่งเสริมเด็กเรียนรู้การทำนา

แชร์ข่าวพะเยา

      ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านก๊อหลวง ตำบลทุ่งกล้วย อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา ขอดันส่งเสริมนักเรียนตัวน้อยเรียนรู้วิถีทำนาตั้งแต่เริ่มปลูกยันฟาดข้าว เผยยุคสมัยเปลี่ยนไปเด็ก ๆ เริ่มที่จะไม่รู้จักวิถีชุมชนในอดีต

ภายใน รร.บ้านก๊อหลวง ต.ทุ่งกล้วย อ.ภูซาง จ.พะเยา ได้มีการจัดกิจกรรมช่วงระหว่างเรียนในเรื่องของการเรียนรู้วิถีชุมชนด้วยการปลูกข้าว เกี่ยวข้าวและฟาดข้าว โดยนายวิจารย์ หมดสังข์ ผอ.รร.บ้านก๊อหลวงพร้อมด้วยครุผู้สอนหลายคนได้นำนักเรียนตั้งแต่ชั้น ป.3 ถึง ป.6 มาเรียนรู้วิถีชุมชนทั้งนี้เด็ก ๆ ภายในโรงเรียนดังกล่าวต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งจะเห็นได้จากเมื่อช่วงตอนกลางปี 67 ที่ผ่านมาทางโรงเรียนได้นำเด็กนักเรียนมาร่วมกันปลูกข้าวในการสร้างแรงขับเคลื่อนเรียนรู้วิถีชุมชนจนมาถึงหลังปีใหม่ 68 เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเข้าสู่ในเรื่องของการเกี่ยวข้าวและฟาดข้าวซึ่งถือว่าเป็นการปูพื้นฐานที่จะทำให้เด็ก ๆ เหล่านี้เรียนรู้ความเป็นอยู่ในสมัยอดีตและปัจจุบันที่ยังคงหลงเหลือในเรื่องของการปลูกและการเกี่ยวตามแบบฉบับที่รุ่นผู้เฒ่าผู้แก่เคยกระทำมา

     นายวิจารย์ ได้เล่าว่า ภาพที่เห็นเหล่านี้ส่วนหนึ่งนั้นตนเองได้ทำการขับเคลื่อนและปลูกฝังในเรื่องการเรียนรู้วิถีชุมชนจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่าข้าวที่ปลูกในยุคสมัยนี้ใช้รถปลูกทุ่นแรงในเรื่องการใช่คนปลูกข้าวรวมทั้งการเกี่ยวที่สมัยนี้ก็ยังมีรถเกี่ยวข้าวให้เห็นในพื้นที่ของ จ.พะเยาและต่างจังหวัดด้วย แต่ด้วยตนเองมีแนวคิดที่จะปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปลูกข้าวที่ช่วยกันหรือแม้กระทั่งการลงแขกเกี่ยวข้าวที่ใช้เพียงแรงคนช่วยกันเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีอีก 1 กิจกรรมที่เด็ก ๆ ให้ความสนใจเป็นอย่างมากนั่นคือการฟาดข้าวที่คนสมัยนี้แทบจะไม่เห็นพื้นที่ไหนทำกันแล้ว เพียงแต่ อ.ภูซางในบางแห่งยังมีให้เห็นซึ่งน้อยมากที่บางบ้านจะร่วมกันทำออกมาด้วยการใช้แรงคนที่แสนเหนื่อยประกอบกับการขายข้าวที่ไม่สามารถทิ้งไว้นานได้สิ่งเหล่าจึงจะเลือนไปหายไปที่ละน้อยด้วยเช่นกัน แต่มาวันนี้ตนเองได้พาเด็ก ๆ มาลองทำกิจกรรมฟาดข้าวโดยมีชาวบ้านเข้ามาสอนให้เกิดความรู้ความเข้าใจว่าการฟาดข้าวข้อดีมีอย่างไรและประโยชน์ที่เราทำนั้นได้อะไรกลับไปด้วย

     นายวิจารย์กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าโรงเรียนที่ตนเองบริหารอยู่นี้จะเป็นสถานศึกษาเล็ก ๆ และเด็ก ๆ ที่เข้าเรียนจะไม่ถึงร้อยคนก็ตาม แต่ทุกกิจกรรมที่ทำนั้นล้วนแต่เป็นการปลูกฝังให้เด็ก ๆ เหล่านี้ไม่ลืมวิถีชุมชนที่พวกเขาเติบโตมาอย่างน้อยสิ่งเหล่านี้ถ้ามีการต่อยอดสืบสานกันต่อไปแล้วตนเชื่อว่าอนาคตไม่ว่าจะ 5 ปี หรือ 10 ปีก็อาจจะไม่สูญหายไปก็เป็นได้เช่นกัน


แชร์ข่าวพะเยา