เกษตรกรในพื้นที่ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา รวมกลุ่มแปลงใหญ่ผลิตเมล่อนและแคนตาลูปมาตรฐาน GAP ออกจำหน่าย ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้เป็นอย่างดี ขณะที่ทางอำเภอร่วมบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าทำการส่งเสริมให้เกษตรกรได้ทำการผลิตเมล่อนและแคนตาลูป ซึ่งเป็นผลิตผลที่สำคัญของพื้นที่และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรให้มีมาตรฐาน GAP ซึ่งจะไม่กระทบในเรื่องของราคาและการจำหน่าย
นายพิรัช จันทิมา นายอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา พร้อมด้วยกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ ในพื้นที่ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ต้องเข้าทำการตรวจดูผลผลิตเมล่อนและแคนตาลูป ของกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ในพื้นที่อำเภอแม่ใจ หลังจากที่ทางหน่วยงานทั้งอำเภอ เกษตรอำเภอพาณิชย์จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการส่งเสริมให้เกษตรกรได้ทำการผลิตเมล่อนและแคนตาลูป ซึ่งถือเป็นผลิตผลที่สำคัญของพื้นที่อำเภอแม่ใจ ที่สามารถทำรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นอย่างดี ในการดำเนินการในแนวทางที่จะพัฒนาคุณภาพของผลผลิต ให้เป็นมาตรฐาน GAP ซึ่งปัจจุบันผลผลิตได้เริ่มออกสู่ตลาดและสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่เหมาะสมและมีผู้เดินทางมาสั่งจองและหาซื้อกันอย่างต่อเนื่อง
โดยนายบุญเรือง แสงบุญเรือง เกษตรกรรายหนึ่ง ในพื้นที่หมู่ที่ 12 ตำบลศรีถ้อย ซึ่งเข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ที่พัฒนามาตรฐานสินค้า GAP ระบุว่า ตนเองได้ทำการปลูก แคนตาลูป จำนวนเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ซึ่งขณะนี้ผลผลิตเริ่มสามารถที่จะเก็บเกี่ยวออกสู่ตลาดได้แล้ว ซึ่งในปีนี้ผลผลิตค่อนข้างที่จะมีความสมบูรณ์ โดยผลผลิตรวมคาดว่าจะมีประมาณ 15 ตัน ซึ่งหลังจากที่ได้รวมกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ พบว่าสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ เนื่องจากทุกภาคส่วนได้มีการส่งเสริมทั้งในเรื่องของการผลิต ผลผลิตแคนตาลูป รวมทั้งเรื่องของการตลาด ซึ่งขณะนี้สามารถจำหน่ายได้กิโลกรัมละ 25 บาท และหลังจากที่เข้าร่วมในการผลิตตามมาตรฐาน GAP แล้วพบว่ายอดขายสามารถจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง และมีรายได้ดีกว่าที่ผ่านมา ที่มีการผลิตแบบวิธีการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน GAP
ขณะที่นายพิรัช จันทิมา นายอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ระบุว่า ทางอำเภอได้ร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งเกษตร พาณิชย์จังหวัด ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันที่จะพัฒนาให้เกษตรกรได้มีการรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ในการผลิตสินค้าทางด้านการเกษตรซึ่งเมล่อนและ แคนตาลูปถือเป็นผลผลิตที่สำคัญที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ดังนั้นจึงได้มีการส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มในการผลิตดังกล่าวให้มีมาตรฐาน GAP ซึ่งจะทำให้สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่เหมาะสม รวมทั้งไม่มีปัญหาในเรื่องของการตลาด ซึ่งปัจจุบันทางอำเภอได้มีการส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มโดยมีผลผลิตเมล่อนที่เป็นสินค้าปลอดภัย ตามมาตรฐาน GAP จำนวน 16 โรง โดยจะมีผลผลิตประมาณ 30 ตัน และผลผลิตจะออกตลอดทั้งปีเพราะเรามีการวางแผนการผลิตพร้อมกับตอบสนองกับการตลาด เราก็จะทำเป็น ห้วงเวลาในการผลิตที่สามารถออกสู่ตลาดตลอดทั้งปี ซึ่งปัจจุบันสามารถที่จะจำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละ 80 บาท ขณะที่แคนตาลูปเราก็มีการส่งเสริมให้เกษตรกรได้ทำการผลิตสินค้าตามมาตรฐาน GAP เช่นกัน ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของเกษตรกรแปลงใหญ่ โดยขณะนี้มีพื้นที่ร่วมโครงการประมาณ 50 ไร่และมีผลผลิตประมาณ 300 ตัน ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มออกสู่ตลาดแล้วเช่นกัน โดยขณะนี้เราก็มีการวางแผนกระจายสินค้าไปในทุกช่องทาง ซึ่งจะสามารถพัฒนาให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตได้อย่างต่อเนื่อง