จังหวัดพะเยา ประชุมติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด19 ในพื้นที่จังหวัดพะเยา

แชร์ข่าวพะเยา

คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพะเยา ประชุมติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด19 ในพื้นที่จังหวัดพะเยา  เพิ่มมาตรการเร่งด่วนในการคุมโรค  และตั้งเป้าหมายร่วม ” จะประชุมตามสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยน  เพื่อยกระดับการดำเนินงานตามมาตรการ”  บางเรื่องอาจสูงกว่ามาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด  ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายสูงสุด ทำอย่างไรให้โรงเรียนเปิดได้  เด็กนักเรียนได้ไปเรียนหนังสือ  แบบวิถีใหม่ new normal  และทุกคนร่วมมือ  ช่วยกัน สร้างความเชื่อมั่นและปลอดภัย   ” ทุกแห่ง  ทุกที่  ผู้คนมีภูมิคุ้มกัน ” ตามมาตรการองค์กร  Covid Free Setting ต่างๆ  ในบทบาท หน้าที่ อำนาจหน้าที่ที่รับผิดชอบ

ที่ห้องประชุม 1 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพะเยา   นายชุติเดช มีจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา รักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ในฐานะ ประธานคณะกรรมการ โรคติดต่อจังหวัดพะเยา พร้อมด้วย นายเทวา ปัญญาบุญ ปลัดจังหวัดพะเยา นายแพทย์ศุภชัย  บุญอำพันธ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพะเยา  คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพะเยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน จากมหาวิทยาลัยพะเยา ตำรวจ ปกครองและหอการค้าจังหวัดพะเยา เพื่อร่วมพิจารณามาตรการเร่งด่วนในการควบคุมโรค จากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด19 ในพื้นที่ขณะนี้

            จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด19 ระลอกใหม่ ของจังหวัดพะเยา ตั้งแต่วันที่  1 เมษายน 2564 ถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2564 มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด19 จำนวน 2,008 ราย  เสียชีวิต 8 ราย ( ร้อยละ 0.40 ) กลับบ้านแล้ว 1,785 ราย ยังคงนอนรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 215 ราย และ โรงพยาบาลสนามจังหวัดพะเยา จำนวน 77 ราย

ที่ผ่านมา จังหวัดพะเยา มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน  (Cluster ) จำนวน  41 Cluster  เหตุการณ์สงบแล้ว จำนวน  39 Cluster  และมี 2 Cluster  ที่กำลังมีการระบาด คือ 

•Cluster  ไก่ชน ตำบลป่าเปา อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ห้วยกิ่วมื่น อำเภอปง และบ้านโซ้ อำเภอเมืองพะเยา  จังหวัดพะเยา พบผู้ป่วยยืนยันในพื้นที่ จำนวน 43 ราย พบผู้ป่วยรายล่าสุด ที่ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เป็นผู้สัมผัสในครอบครัวที่ไปชนไก่ ห้วยกิ่วมื่น อำเภอปง จังหวัดพะเยา เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564

•Cluster  ร้านอาหารที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ บริเวณหนองระบู ตำบลเวียง และบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา พบผู้ป่วยยืนยันในพื้นที่ จำนวน 165 ราย ส่วนใหญ่เป็น กลุ่มนักศึกษาและบุคลากร มหาวิทยาลัยพะเยา จำนวน 148 ราย คิดเป็น ร้อยละ 89.70 และประชาชนทั่วไป จำนวน 17 ราย คิดเป็น ร้อยละ 10.30 ขณะนี้ยังพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด19 อย่างต่อเนื่อง

          จากรายงานสถานการณ์ติดเชื้อคลัสเตอร์ที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2564 พบว่าผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยง คือ ไปร้านอาหาร และมีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นจากคลัสเตอร์ดังกล่าว เพื่อระงับยับยั้งการแพร่ของโรค จึงมีความจำเป็นต้องยกระดับมาตรการควบคุมป้องกันโรคสำหรับร้านอาหารให้เข้มข้นขึ้น คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพะเยา จึงได้มีมติเห็นชอบในคราวประชุมครั้งที่ 44/2564 วันที่ 28 ตุลาคม 2564 กำหนดมาตรการสำหรับร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้บริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านได้ภายในกำหนดเวลาปกติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน และห้ามแสดงดนตรีหรือเปิดเครื่องเล่นเพลงทุกชนิด ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 หากพบการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม พนักงานเจ้าหน้าที่อาจให้คำแนะนำ ตักเตือน ห้ามปราม และมีอำนาจกำหนดช่วงระยะเวลาเพื่อปรับปรุงแก้ไข รวมทั้งเสนอให้ผู้มีอำนาจมีคำสั่งปิดสถานที่ไว้เป็นการชั่วคราวและดำเนินคดีต่อผู้ฝ่าฝืนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ จะมีการประเมินสถานการณ์อีก 7 วัน หากสามารถระงับยับยั้งการแพร่ระบาดจนสถานการณ์ในพื้นที่คลี่คลายลงได้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพะเยา จะพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคตามลำดับขั้นตอนต่อไป

สำหรับมาตรการในการป้องกันและควบคุมโรคในหน่วยงานและองค์กร  เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีในการร่วมกันป้องกันควบคุมโรคตามนโยบายของรัฐบาล ได้ขอความร่วมมือให้ข้าราชการครู ข้าราชการพลเรือน เข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด19 ให้ครอบคลุมร้อยละ 95 ของบุคลากรในหน่วยงาน  ทั้งนี้เพื่อรองรับการเปิดเมืองและการเปิดเรียนแบบปกติ ( On Site ) อย่างปลอดภัย ทำอย่างไรให้โรงเรียนเปิดได้  เด็กนักเรียนได้ไปเรียนหนังสือ  แบบวิถีใหม่ new normal  และทุกคนร่วมมือ  ช่วยกัน สร้างความเชื่อมั่นและปลอดภัย   “ทุกแห่ง  ทุกที่  ผู้คนมีภูมิคุ้มกัน “ตามมาตรการองค์กร  Covid Free Setting ต่างๆ  ในบทบาท หน้าที่ อำนาจหน้าที่ที่รับผิดชอบ


แชร์ข่าวพะเยา